วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเสื่อมศรัทธาในไม้กฤษณา

เมื่อกล่าวถึงไม้กฤษณา คนส่วนมากที่พอจะรู้จักไม้ชนิดนี้มักจะนึกถึงมูลค่าที่สูงก่อนเป็นลำดับแรกๆ แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า กว่าที่จะมามีมูลค่าราคาแพงเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ เพราะต้นกฤษณาในธรรมชาตินั้น ไม่ได้มีแก่นกฤษณาทุกต้น เพราะการเกิดเนื้อกฤษณานั้นต้นไม้จะต้องผ่านการรบกวนโดยแมลง , โรคต่างๆ หรือการหักโดยธรรมชาติ แล้วเกิดการสะสมเนื้อกฤษณาไว้นานหลายปีจึงจะมีราคาที่สูง ดังนั้น การตัดฟันเพื่อล่าเอาเนื้อไม้กฤษณาในธรมชาติจึงเหมือนกับการฆ่าช้างเอางา เพราะต้องตัดโค่นต้นไม้ทั้งต้นเพื่อเอาเนื้อกฤษณาเพียงไม่กี่กรัม



ในปัจจุบัน ผู้คนได้พากันศึกษาค้นคว้าวิธีการต่างๆมากระตุ้นให้ต้นกฤษณาเกิดน้ำมันหรือเนื้อกฤษณาได้แล้ว และเท่าที่ผมได้รวบรวมข้อมูลมา พบว่า ทุกวิธีสามารถสร้างเนื้อกฤษณาได้ทั้งนั้น จะต่างกันที่ระยะเวลาและความแก่อ่อนของเนื้อไม้ที่สะสมเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการที่สร้างโดยมนุษย์นั้นยังไม่สามารถทัดเทียมกับไม้กฤษณาจากธรรมชาติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปริมาณการตัดฟันไม้กฤษณาจากธรรมชาติจึงยังไม่ลดลง แต่ก็ยังมีผลดีจากการที่มนุษย์สามารถกระตุ้นกฤษณาได้คือ ทำให้เกิดการปลูกต้นกฤษณาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของไม้กฤษณาไปจากธรรมชาติอันเนื่องมาจากการค้า



แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันและแก่งแย่งผลประโยชน์จากการค้าสารกระตุ้นและการรับจ้างเจาะกระตุ้นไม้กฤษณาด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวบางท่านใช้การกล่าวโจมตีคู่แข่งให้เสื่อมเสีย เพื่อที่จะได้ขายสารกระตุ้น หรือสามารถรับจ้างกระตุ้นไม้ให้กับเกษตรกรได้ โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงการแปรรูปและการตลาดในบั้นปลายว่า เจ้าของสวนหรือเกษตรกรจะสามารถทำได้หรือไม่ 



สิ่งที่สำคัญที่สุดของการประกอบอาชีพทุกชนิดคือการตลาด ตราบใดที่เราพากันเร่งผลิตโดยปราศจากตลาดรองรับ ย่อมทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย หรือผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำดังเช่นที่เป็นอยู่กับน้ำมันกฤษณาในขณะนี้ และเมื่อเกษตรกรได้ทำการกระตุ้นไปแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องแปรรูปเช่นไรหรือขายอย่างไร สุดท้ายแล้วการคำนวณต้นทุนการปลูก , การดูแลรักษา , การเจาะกระตุ้น เปรียบเทียบกับมูลค่าสุดท้ายที่จะได้รับแล้วไม่เกิดความคุ้มค่า เกษตรกรหลายท่านจึงได้พากันตัดต้นกฤษณาทิ้งเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน







เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว สิ่งที่คนในแวดวงกฤษณาควรช่วยกันมากที่สุดคือ เรื่องการตลาด เพื่อหาช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆจากไม้กฤษณาที่นอกเหนือไปจากน้ำมันหอม และตัวเกษตรกรเองก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของการแปรรูป เช่นการแทงไม้เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไม้กฤษณาต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤติศรัทธา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น