วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเสื่อมศรัทธาในไม้กฤษณา

เมื่อกล่าวถึงไม้กฤษณา คนส่วนมากที่พอจะรู้จักไม้ชนิดนี้มักจะนึกถึงมูลค่าที่สูงก่อนเป็นลำดับแรกๆ แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า กว่าที่จะมามีมูลค่าราคาแพงเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ เพราะต้นกฤษณาในธรรมชาตินั้น ไม่ได้มีแก่นกฤษณาทุกต้น เพราะการเกิดเนื้อกฤษณานั้นต้นไม้จะต้องผ่านการรบกวนโดยแมลง , โรคต่างๆ หรือการหักโดยธรรมชาติ แล้วเกิดการสะสมเนื้อกฤษณาไว้นานหลายปีจึงจะมีราคาที่สูง ดังนั้น การตัดฟันเพื่อล่าเอาเนื้อไม้กฤษณาในธรมชาติจึงเหมือนกับการฆ่าช้างเอางา เพราะต้องตัดโค่นต้นไม้ทั้งต้นเพื่อเอาเนื้อกฤษณาเพียงไม่กี่กรัม



ในปัจจุบัน ผู้คนได้พากันศึกษาค้นคว้าวิธีการต่างๆมากระตุ้นให้ต้นกฤษณาเกิดน้ำมันหรือเนื้อกฤษณาได้แล้ว และเท่าที่ผมได้รวบรวมข้อมูลมา พบว่า ทุกวิธีสามารถสร้างเนื้อกฤษณาได้ทั้งนั้น จะต่างกันที่ระยะเวลาและความแก่อ่อนของเนื้อไม้ที่สะสมเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการที่สร้างโดยมนุษย์นั้นยังไม่สามารถทัดเทียมกับไม้กฤษณาจากธรรมชาติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปริมาณการตัดฟันไม้กฤษณาจากธรรมชาติจึงยังไม่ลดลง แต่ก็ยังมีผลดีจากการที่มนุษย์สามารถกระตุ้นกฤษณาได้คือ ทำให้เกิดการปลูกต้นกฤษณาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของไม้กฤษณาไปจากธรรมชาติอันเนื่องมาจากการค้า



แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันและแก่งแย่งผลประโยชน์จากการค้าสารกระตุ้นและการรับจ้างเจาะกระตุ้นไม้กฤษณาด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวบางท่านใช้การกล่าวโจมตีคู่แข่งให้เสื่อมเสีย เพื่อที่จะได้ขายสารกระตุ้น หรือสามารถรับจ้างกระตุ้นไม้ให้กับเกษตรกรได้ โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงการแปรรูปและการตลาดในบั้นปลายว่า เจ้าของสวนหรือเกษตรกรจะสามารถทำได้หรือไม่ 



สิ่งที่สำคัญที่สุดของการประกอบอาชีพทุกชนิดคือการตลาด ตราบใดที่เราพากันเร่งผลิตโดยปราศจากตลาดรองรับ ย่อมทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย หรือผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำดังเช่นที่เป็นอยู่กับน้ำมันกฤษณาในขณะนี้ และเมื่อเกษตรกรได้ทำการกระตุ้นไปแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องแปรรูปเช่นไรหรือขายอย่างไร สุดท้ายแล้วการคำนวณต้นทุนการปลูก , การดูแลรักษา , การเจาะกระตุ้น เปรียบเทียบกับมูลค่าสุดท้ายที่จะได้รับแล้วไม่เกิดความคุ้มค่า เกษตรกรหลายท่านจึงได้พากันตัดต้นกฤษณาทิ้งเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน







เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว สิ่งที่คนในแวดวงกฤษณาควรช่วยกันมากที่สุดคือ เรื่องการตลาด เพื่อหาช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆจากไม้กฤษณาที่นอกเหนือไปจากน้ำมันหอม และตัวเกษตรกรเองก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของการแปรรูป เช่นการแทงไม้เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไม้กฤษณาต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤติศรัทธา

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มูลค่าของกฤษณา

ไม้กฤษณา เป็นพืชที่ถูกกล่าวถึงมานานแล้วในเรื่องมูลค่าราคาที่แสนแพงของแก่นไม้และน้ำมันกฤษณา



จึงทำให้มีเกษตรกรหลายท่านหันมาปลูกกฤษณาอย่างจริงจังเพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจ ทำให้มีพ่อค้าหัวใสพากันหากล้าไม้มาขายให้กับเกษตรกรในราคาแพง จนเกิดการปั่นราคากล้าไม้กฤษณาขึ้นมา โดยการอ้างถึงสายพันธุ์ต่างๆว่าวิเศษกว่าพันธุ์อื่นๆ เพื่อขายกล้าให้ได้ราคาแพงขึ้น  ทั้งที่ความจริงแล้วในตลาดกฤษณา ไม่ว่าผลผลิตจะมาจากสายพันธุ์ใดก็ล้วนแต่ขายได้ราคาทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นไม้และน้ำมัน



ปัจจุบัน มีเกษตรกรหลายรายต้องการขายต้นกฤษณาที่ปลูกขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 6-10 ปีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลูกมาแล้วแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องของการกระตุ้นและแปรรูปไม้กฤษณาให้เป็นสินค้าได้ บางรายไปซื้อต้นกล้ามาจากแหล่งที่ปั่นราคาขายในราคาสูงถึง 70-80 บาท และมีความเข้าใจผิดๆว่า ต้นกฤษณานั้นต้องมีมูลค่าที่สูงแม้ไม่ต้องกระตุ้นหรือมีสารกฤษณาอยู่ในต้น และต้องการขายต้นไม้ของตนในราคาต้นละหลายพันบาทหรือเป็นหมื่นก็มี  และเมื่อไม่สามารถขายสวนของตนได้ หลายท่านจึงได้ทำการตัดทำลายเผาทิ้งแล้วปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ทั้งๆที่กฤษณาแปลงนั้นๆได้ปลูกมาหลายปีแล้ว แทนที่จะตัดทิ้ง หากได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีก็จะสามารถสร้างเงินได้ในระยะเวลาอีกแค่ 1-2 ปี แต่การตัดแล้วปลูกพืชชนิดอื่น ทำให้ต้องรอเวลาเก็บเกี่ยวออกไปอีก 5-7 ปี ตามประเภทของพืชนั้นๆ



มูลค่าที่แท้จริงจริงของก็คือ ต้นกฤษณานั้น หากไม่มีแก่นกฤษณาหรือน้ำมันกฤษณาในต้น ก็แทบจะหามูลค่าในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดจากต้นกฤษณาก็คือแก่นและน้ำมัน และเนื้อไม้ก็อ่อนมากจนไม่สามารถนำเอาไปทำอะไรได้ นอกจากเป็นเชื้อไฟตั้งต้นสำหรับเผาถ่าน ส่วนใบนั้นก็มีเพียงไม่กี่รายในเมืองไทยที่นำเอาไปทำชากฤษณา

จากการสำรวจในจังหวัดที่มีการผลิตไม้และน้ำมันกฤษณาในเชิงอุตสาหกรรม พบว่า ราคาซื้อขายต้นกฤษณาเปล่าๆที่ไม่ได้กระตุ้น พบว่ามีราคาซื้อขายอยู่ในช่วง 500-800 บาทต่อต้น สำหรับต้นกฤษณาอายุประมาณ 6-8 ปี และ 800-1,000 บาทต่อต้น สำหรับต้นกฤษณาอายุ 8-10 ปี แต่สำหรับต้นกฤษณาที่มีอายุมากกว่าสิบปีขึ้นไปจะมีราคาที่สูงขึ้นจากขนาดของต้นไม้ที่โตกว่า



ในส่วนของต้นกฤษณาที่ได้รับการเจาะกระตุ้นแล้ว ที่อายุประมาณ 8-10 ปี พบว่ามีราคาซื้อขายเฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อต้น เมื่อผ่านการกระตุ้นไปมากกว่า 1 ปี

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว เกษตรกรส่วนมากมักจะมีคำถามตามมา เช่น

ถาม  ผู้ซื้อได้อะไรจากต้นกฤษณาที่ตนซื้อมา

ตอบ  คำตอบของคำถามนี้มีอยู่สองคำตอบ

1. สำหรับต้นไม้ที่ยังไม่ได้เจาะกระตุ้น ผู้ซื้อจะต้องทำกการเจาะกระตุ้นเสียก่อนและต้องรอบ่มไว้อย่างน้อยสองปี เพื่อให้เนื้อกฤษณามีคุณภาพที่ดีเพียงพอที่จะแปรรูป นั่นก็หมายความว่า เกษตรกรที่ขายต้นไม้ให้ต้องยินยอมให้ผู้ซื้อฝากต้นไม้ไว้ในที่ดินอย่างน้อยสองปี



2. ส่วนต้นไม้ที่เจาะกระตุ้นไว้แล้ว ผู้ซื้อจะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งโดยหลักๆแล้วมีอยู่สองประเภทคือ ชิ้นไม้และน้ำมัน  ในต้นกฤษณาที่ได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีและมีการดูแลที่ดีจากเจ้าของ ส่วนใหญ่จะให้ชิ้นไม้กฤษณาอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัมสำหรับต้นอายุประมาณ 6-7 ปี แต่การกระตุ้นบางวิธีสามารถให้ผลผลิตได้มากถึง 3-4 กิโลกรัมต่อต้น มูลค่าของชิ้นไม้คุณภาพดีขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ หนึ่งหมื่นบาทต่อกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย แต่หากเกรดไม้คุณภาพไม่สูงนัก ราคาก็จะถูกลงมาตามสภาพ และในกรณีที่คุณภาพไม้ไม่แก่พอที่จะทำไม้ชิ้นได้ก็จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันกฤษณา  โดยเฉลี่ย ต้นกฤษณาอายุประมาณ 8-10 ปีจะให้น้ำมันประมาณ 8-10 โตล่าต่อต้น



แต่อย่างไรก็ตาม ในคำตอบทั้งสองข้อก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเจาะกระตุ้นต้นไม้นั้น ก็จะมีต้นทุนค่าจ้างทำหรืออาจจะต้องซื้อสารมาทำเอง จากการศึกษาวิธีการกระตุ้นต่างๆจากบุคลากรหลายๆท่านในวการกฤษณาเมืองไทย พบว่า ค่าจ้างทำการกระตุ้นไม้กฤษณาที่อายุประมาณ 6-10 ปี จะอยู่ที่ 600-1,500 บาทต่อต้น และจะถูกลงหากจ้างทำเป็นปริมาณมาก ซึ่งการจ้างทำนั้นจะแพงกว่าการซื้อสารไปกระตุ้นเองเพราะผู้รับจ้างจะต้องบวกเอาค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหารการกิน และค่าแรงในการจ้างลูกน้อง ไปรวมอยู่ในต้นทุนด้วย

ส่วนการซื้อสารไปกระตุ้นเองนั้นจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า เฉลี่ยแล้วตกต้นละประมาณ 180-300 บาทเท่านั้น แต่ก็มีข้อเสียคือ หากผู้ใช้สารกระตุ้นไม่มีความเข้าใจเพียงพอก็จะทำให้ต้นไม้ผุพังเสียหายได้ เนื่องจากเมื่อก่อนนี้สารกระตุ้นส่วนใหญ่เป็นของเหลว และต้องหยอดใส่ในรูเจาะ และหากเจาะรูด้วยดอกสว่านขนาดใหญ่หรือเจาะใกล้กันเกินไป ก็จะทำให้ต้นไม้เสียหายได้



ส่วนในคำตอบข้อที่สองนั้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจว่า แม้จะเห็นว่าไม้กฤษณามีราคากิโลกรัมละเป็นหมื่นๆ แต่็มีค่าใช้จ่ายในการแปรรูปไม่น้อยเช่นกัน โดยแยกเป็น

1. ค่าตัดและขนย้ายต้นไม้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ต้นละประมาณ 100 บาท
2. ค่าแรงคนงานในการปอกไม้ขาวออกจากแก่นไม้ วันละ 200 บาท
3. ค่าแรงเหมาแกะหรือแทงไม้ (เหลาเอาเฉพาะเนื้อดำ) กิโลกรัมละ 1,500-2,500 บาท แล้วแต่เนื้อไม้
4. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆอีกประมาณ 500 บาทต่อต้น
5. ค่าแพ็คและขนส่งไปจำหน่าย ประมาณ 100 บาทต่อต้น



ส่วนต้นทุนของการกลั่นน้ำมันเช่น

1. ค่าแก๊ส สองถัง ถังละประมาณ 1,000 บาท กลั่น3-4 หม้อ
2. ค่าคนงานสับไม้ คนละประมาณ 200 บาทต่อวัน หรือหากเหมาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 10-15 บาท
3. ค่าน้ำ-ไฟ 100 บาทต่อล็อต
4. ค่าจ้างคนเฝ้าและดูแลหม้อกลั่น วันละ 200 บาทต่อคน
5. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ประมาณ 1,000 บาท



เมื่อทราบดังนี้แล้ว ผมคิดว่าเกษตรกรคงมีความเข้าใจในเรื่องการปลูกและผลิตไม้กฤษณามากขึ้น การกำหนดมูลค่าของต้นไม้จะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

การตัดแต่งกิ่งไม้กฤษณา

การตัดแต่งกิ่งของต้นกฤษณาในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มักจะตัดกิ่งออกจนเกือบหมด จนทำให้ต้นไม้ดูสูงชะลูด ไม้กฤษณาที่ตัดแต่งกิ่งแบบนี้จะทำให้ต้นล้มลงมาได้ง่ายเมื่อเจอลมพายุแรงๆ โดยเฉพาะต้นที่โดนตัดแต่งกิ่งตั้งแต่เล็กๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วต้นไม้จะสร้างรากแขนงค้ำยันต้นตามขนาดของทรงพุ่ม เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มและเป็นการช่วยพยุงต้นเอาไว้ด้วย






เมื่อทำการเจาะกระตุ้นแล้ว ต้นไม้จะเสียความแข็งแรงในเชิงโครงสร้างจากรอยสว่านที่เจาะจนพรุน บางครั้งอาจมีการผุจากการติดเชื้อราร่วมด้วย โดยเฉพาะเชื้อราในตระกูล "Phaeoacremonium parasitica" จริงอยู่ ที่ราชนิดนี้มีส่วนในการช่วยให้ต้นกฤษณาเกิดการตกน้ำมันในปริมาณมาก แต่การตัดแต่งกิ่งเช่นในภาพก็จะทำให้ต้นไม้เสียสมดุลไปและจะหักโค่นได้ง่ายเมื่อลมแรงๆจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น





ที่สำคัญคือ กระบวนการสร้างเรซินในต้นกฤษณานั้น จะเป็นไปได้มากหรือน้อย , เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณของใบ เพราะใบนั้นเปรียบเสมือนโรงครัวที่ทำอาหารเลี้ยงคนนั่นเอง การตัดแต่งกิ่งเช่นนี้จึงทำให้ต้นไม้สร้างน้ำมันไปสะสมตามบาดแผลที่ทำการกระตุ้นได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้น้ำมันที่ได้ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่เป็นสีดำ แม้บางต้นจะเก็บบ่มจากการทำการกระตุ้นมานานกว่าสองปีก็ยังคงเป็นสีน้ำตาลครับ



ปกติแล้ว เมื่อต้นกฤษณาได้รับการกระตุ้นหรือเกิดบาดแผลขึ้นภายในลำต้น จะทำให้ระบบการส่งน้ำและอาหารถูกขัดขวาง ต้นไม้ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปสร้างการเจริญเติบโตที่ปลายกิ่งหรือยอดได้ ต้นไม้จะมีอาการใบเหลือง เนื่องจากถูกดึงเอาอาหารสำรองที่สะสมไปใช้ และจะร่วงจนเกือบหมดต้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ การเคลื่อนที่ของน้ำในลำต้นก็จะช้าลง ทำให้สาร " ฟีนอล " ที่เป็นคล้ายกับโกรทฮอร์โมนของเราเกิดการอั้นในบริเวณแผลที่ถูกเจาะ ทำให้เกิดการสร้างกิ่งอ่อนหรือกิ่งแขนงขึ้นใกล้ๆกับรูเจาะ กิ่งดังกล่าวนี้ไม่ควรเด็ดหรือตัดทิ้ง เพราะมันจะคอยเป็นโรงอาหารสำรองไว้คอยสร้างสารอาหารเพื่อเลี้ยงในบริเวณใกล้ๆนั้น เนื่องจากต้นไม้ไม่มีกำลังจะไปจัดการดูแลสุขภาพตัวเองได้ทั้งต้น ซึ่งเป็นกระบวนการ การเอาตัวรอดตามธรรมชาติของต้นกฤษณาครับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่อันตรายมาก เพราะหากเกิดฝนตกหนักและน้ำขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นไม้ตายได้ จากอาการรากเน่า เพราะต้นไม้ไม่มีใบที่จะคายน้ำ ดังนั้นจึงควรเลือกช่วงเวลาที่จะเจาะกระตุ้นให้ดี



เนื้อไม้กฤษณานั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนประเภท " Included Phloem " ซึ่งมีทั้ง ไซเล็มและโฟลเอ็มอยู่คู่กันโดยไม่มีวาสคิวล่าร์แคมเบี่ยม และมี เรย์-พาเรงคิมา เป็นตัวเชื่อมระหว่างไซเล็มและโฟลเอ็ม ซึ่งสารกฤษณานั้นจะเกิดการเริ่มสร้างและสะสมในบริเวณที่เป็นรอยต่อดังกล่าวนี้เองโดยอาศัยจังหวะการส่งน้ำและอาหารขึ้น-ลงสวนกันแบบมีระบบวาล์วเปิดปิด คล้ายกับปั๊มดูดน้ำดื่มจากถังขนาด 20 ลิตรที่เราใช้กันในบ้านนั่นล่ะครับ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีหน้าที่คล้ายกับน้ำเหลืองและเม็ดเลือดขาวของเราในการช่วยปกปิดบาดแผลและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้ามาทำลายเนื้อไม้ หรือจะเรียกสารกฤษณาว่าเป็นระบบภูมิคุ้มกันของต้นไม้ก็คงจะไม่ผิดครับ



เมื่อต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะปิดกั้นบาดแผลนั้นๆได้ สารกฤษณาที่สร้างขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะกลายสภาพเป็นเปลือกและหลุดล่อนออกไปเหมือนกับสะเก็ดแผลของเราครับ แต่ต้นกฤษณาที่ตกน้ำมันจนมีการสะสมมากพอนั้น เกิดจากการที่ต้นไม้นั้นเกิดการระคายเคืองหรือเครียด หรือติดเชื้อที่บาดแผลเรื้อรัเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญ หากบาดแผลนั้นอยู่ภายในลำต้น จะต้นไม่ให้ต้นไม้แตกหักเสียหายหรือมีอากาศไหลเวียนเข้าไปได้ เพราะ ออกซิเจนและไนโตรเจนในอากาศสามารถทำให้ต้นไม้เปลี่ยนโครงสร้างน้ำมันเป็นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (เปลือก) เพื่อปกปิดบาดแผลแทน สุดท้ายแล้วแทนที่จะได้แก่นไม้ กลับได้ไม้ข้าวเย็นแทน (ไม้ที่คืนตัวเป็นเปลือก)



ดังนั้นตอนนี้ เราจึงได้เห็นและเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนที่ทำการกระตุ้นกฤษณาหลายๆท่านจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นต้นไม้



สรุปคือ หากต้องการปลูกต้นกฤษณาให้สามารถสร้างน้ำมันได้ดี ไม่ควรตัดแต่งกิ่งมากนัก ควรตัดทรงพุ่มไม่สูงเกินไปกว่าระดับหน้าอกของเราก็พอ เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะสร้างน้ำมันที่มีค่าให้กับเราต่อไป ผมมักจะพูดเรื่องนี้กับเกษตรกรผู้ปลูกกฤษณาทุกที่ที่ไปบรรยายในอาเซียนว่า " Strong Tree - Strong Resin "



การสร้างน้ำมันในต้นกฤษณาสามารถดูได้จากลิงค์นี้ครับ

Agarwood Inducement.

http://www.youtube.com/watch?v=GaFtsK2pNi8