วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

การตัดแต่งกิ่งไม้กฤษณา

การตัดแต่งกิ่งของต้นกฤษณาในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มักจะตัดกิ่งออกจนเกือบหมด จนทำให้ต้นไม้ดูสูงชะลูด ไม้กฤษณาที่ตัดแต่งกิ่งแบบนี้จะทำให้ต้นล้มลงมาได้ง่ายเมื่อเจอลมพายุแรงๆ โดยเฉพาะต้นที่โดนตัดแต่งกิ่งตั้งแต่เล็กๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วต้นไม้จะสร้างรากแขนงค้ำยันต้นตามขนาดของทรงพุ่ม เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มและเป็นการช่วยพยุงต้นเอาไว้ด้วย






เมื่อทำการเจาะกระตุ้นแล้ว ต้นไม้จะเสียความแข็งแรงในเชิงโครงสร้างจากรอยสว่านที่เจาะจนพรุน บางครั้งอาจมีการผุจากการติดเชื้อราร่วมด้วย โดยเฉพาะเชื้อราในตระกูล "Phaeoacremonium parasitica" จริงอยู่ ที่ราชนิดนี้มีส่วนในการช่วยให้ต้นกฤษณาเกิดการตกน้ำมันในปริมาณมาก แต่การตัดแต่งกิ่งเช่นในภาพก็จะทำให้ต้นไม้เสียสมดุลไปและจะหักโค่นได้ง่ายเมื่อลมแรงๆจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น





ที่สำคัญคือ กระบวนการสร้างเรซินในต้นกฤษณานั้น จะเป็นไปได้มากหรือน้อย , เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณของใบ เพราะใบนั้นเปรียบเสมือนโรงครัวที่ทำอาหารเลี้ยงคนนั่นเอง การตัดแต่งกิ่งเช่นนี้จึงทำให้ต้นไม้สร้างน้ำมันไปสะสมตามบาดแผลที่ทำการกระตุ้นได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้น้ำมันที่ได้ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่เป็นสีดำ แม้บางต้นจะเก็บบ่มจากการทำการกระตุ้นมานานกว่าสองปีก็ยังคงเป็นสีน้ำตาลครับ



ปกติแล้ว เมื่อต้นกฤษณาได้รับการกระตุ้นหรือเกิดบาดแผลขึ้นภายในลำต้น จะทำให้ระบบการส่งน้ำและอาหารถูกขัดขวาง ต้นไม้ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปสร้างการเจริญเติบโตที่ปลายกิ่งหรือยอดได้ ต้นไม้จะมีอาการใบเหลือง เนื่องจากถูกดึงเอาอาหารสำรองที่สะสมไปใช้ และจะร่วงจนเกือบหมดต้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ การเคลื่อนที่ของน้ำในลำต้นก็จะช้าลง ทำให้สาร " ฟีนอล " ที่เป็นคล้ายกับโกรทฮอร์โมนของเราเกิดการอั้นในบริเวณแผลที่ถูกเจาะ ทำให้เกิดการสร้างกิ่งอ่อนหรือกิ่งแขนงขึ้นใกล้ๆกับรูเจาะ กิ่งดังกล่าวนี้ไม่ควรเด็ดหรือตัดทิ้ง เพราะมันจะคอยเป็นโรงอาหารสำรองไว้คอยสร้างสารอาหารเพื่อเลี้ยงในบริเวณใกล้ๆนั้น เนื่องจากต้นไม้ไม่มีกำลังจะไปจัดการดูแลสุขภาพตัวเองได้ทั้งต้น ซึ่งเป็นกระบวนการ การเอาตัวรอดตามธรรมชาติของต้นกฤษณาครับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่อันตรายมาก เพราะหากเกิดฝนตกหนักและน้ำขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นไม้ตายได้ จากอาการรากเน่า เพราะต้นไม้ไม่มีใบที่จะคายน้ำ ดังนั้นจึงควรเลือกช่วงเวลาที่จะเจาะกระตุ้นให้ดี



เนื้อไม้กฤษณานั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนประเภท " Included Phloem " ซึ่งมีทั้ง ไซเล็มและโฟลเอ็มอยู่คู่กันโดยไม่มีวาสคิวล่าร์แคมเบี่ยม และมี เรย์-พาเรงคิมา เป็นตัวเชื่อมระหว่างไซเล็มและโฟลเอ็ม ซึ่งสารกฤษณานั้นจะเกิดการเริ่มสร้างและสะสมในบริเวณที่เป็นรอยต่อดังกล่าวนี้เองโดยอาศัยจังหวะการส่งน้ำและอาหารขึ้น-ลงสวนกันแบบมีระบบวาล์วเปิดปิด คล้ายกับปั๊มดูดน้ำดื่มจากถังขนาด 20 ลิตรที่เราใช้กันในบ้านนั่นล่ะครับ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีหน้าที่คล้ายกับน้ำเหลืองและเม็ดเลือดขาวของเราในการช่วยปกปิดบาดแผลและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้ามาทำลายเนื้อไม้ หรือจะเรียกสารกฤษณาว่าเป็นระบบภูมิคุ้มกันของต้นไม้ก็คงจะไม่ผิดครับ



เมื่อต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะปิดกั้นบาดแผลนั้นๆได้ สารกฤษณาที่สร้างขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะกลายสภาพเป็นเปลือกและหลุดล่อนออกไปเหมือนกับสะเก็ดแผลของเราครับ แต่ต้นกฤษณาที่ตกน้ำมันจนมีการสะสมมากพอนั้น เกิดจากการที่ต้นไม้นั้นเกิดการระคายเคืองหรือเครียด หรือติดเชื้อที่บาดแผลเรื้อรัเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญ หากบาดแผลนั้นอยู่ภายในลำต้น จะต้นไม่ให้ต้นไม้แตกหักเสียหายหรือมีอากาศไหลเวียนเข้าไปได้ เพราะ ออกซิเจนและไนโตรเจนในอากาศสามารถทำให้ต้นไม้เปลี่ยนโครงสร้างน้ำมันเป็นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (เปลือก) เพื่อปกปิดบาดแผลแทน สุดท้ายแล้วแทนที่จะได้แก่นไม้ กลับได้ไม้ข้าวเย็นแทน (ไม้ที่คืนตัวเป็นเปลือก)



ดังนั้นตอนนี้ เราจึงได้เห็นและเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนที่ทำการกระตุ้นกฤษณาหลายๆท่านจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นต้นไม้



สรุปคือ หากต้องการปลูกต้นกฤษณาให้สามารถสร้างน้ำมันได้ดี ไม่ควรตัดแต่งกิ่งมากนัก ควรตัดทรงพุ่มไม่สูงเกินไปกว่าระดับหน้าอกของเราก็พอ เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะสร้างน้ำมันที่มีค่าให้กับเราต่อไป ผมมักจะพูดเรื่องนี้กับเกษตรกรผู้ปลูกกฤษณาทุกที่ที่ไปบรรยายในอาเซียนว่า " Strong Tree - Strong Resin "



การสร้างน้ำมันในต้นกฤษณาสามารถดูได้จากลิงค์นี้ครับ

Agarwood Inducement.

http://www.youtube.com/watch?v=GaFtsK2pNi8