วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเสื่อมศรัทธาในไม้กฤษณา

เมื่อกล่าวถึงไม้กฤษณา คนส่วนมากที่พอจะรู้จักไม้ชนิดนี้มักจะนึกถึงมูลค่าที่สูงก่อนเป็นลำดับแรกๆ แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า กว่าที่จะมามีมูลค่าราคาแพงเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ เพราะต้นกฤษณาในธรรมชาตินั้น ไม่ได้มีแก่นกฤษณาทุกต้น เพราะการเกิดเนื้อกฤษณานั้นต้นไม้จะต้องผ่านการรบกวนโดยแมลง , โรคต่างๆ หรือการหักโดยธรรมชาติ แล้วเกิดการสะสมเนื้อกฤษณาไว้นานหลายปีจึงจะมีราคาที่สูง ดังนั้น การตัดฟันเพื่อล่าเอาเนื้อไม้กฤษณาในธรมชาติจึงเหมือนกับการฆ่าช้างเอางา เพราะต้องตัดโค่นต้นไม้ทั้งต้นเพื่อเอาเนื้อกฤษณาเพียงไม่กี่กรัม



ในปัจจุบัน ผู้คนได้พากันศึกษาค้นคว้าวิธีการต่างๆมากระตุ้นให้ต้นกฤษณาเกิดน้ำมันหรือเนื้อกฤษณาได้แล้ว และเท่าที่ผมได้รวบรวมข้อมูลมา พบว่า ทุกวิธีสามารถสร้างเนื้อกฤษณาได้ทั้งนั้น จะต่างกันที่ระยะเวลาและความแก่อ่อนของเนื้อไม้ที่สะสมเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการที่สร้างโดยมนุษย์นั้นยังไม่สามารถทัดเทียมกับไม้กฤษณาจากธรรมชาติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปริมาณการตัดฟันไม้กฤษณาจากธรรมชาติจึงยังไม่ลดลง แต่ก็ยังมีผลดีจากการที่มนุษย์สามารถกระตุ้นกฤษณาได้คือ ทำให้เกิดการปลูกต้นกฤษณาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของไม้กฤษณาไปจากธรรมชาติอันเนื่องมาจากการค้า



แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันและแก่งแย่งผลประโยชน์จากการค้าสารกระตุ้นและการรับจ้างเจาะกระตุ้นไม้กฤษณาด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวบางท่านใช้การกล่าวโจมตีคู่แข่งให้เสื่อมเสีย เพื่อที่จะได้ขายสารกระตุ้น หรือสามารถรับจ้างกระตุ้นไม้ให้กับเกษตรกรได้ โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงการแปรรูปและการตลาดในบั้นปลายว่า เจ้าของสวนหรือเกษตรกรจะสามารถทำได้หรือไม่ 



สิ่งที่สำคัญที่สุดของการประกอบอาชีพทุกชนิดคือการตลาด ตราบใดที่เราพากันเร่งผลิตโดยปราศจากตลาดรองรับ ย่อมทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย หรือผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำดังเช่นที่เป็นอยู่กับน้ำมันกฤษณาในขณะนี้ และเมื่อเกษตรกรได้ทำการกระตุ้นไปแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องแปรรูปเช่นไรหรือขายอย่างไร สุดท้ายแล้วการคำนวณต้นทุนการปลูก , การดูแลรักษา , การเจาะกระตุ้น เปรียบเทียบกับมูลค่าสุดท้ายที่จะได้รับแล้วไม่เกิดความคุ้มค่า เกษตรกรหลายท่านจึงได้พากันตัดต้นกฤษณาทิ้งเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน







เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว สิ่งที่คนในแวดวงกฤษณาควรช่วยกันมากที่สุดคือ เรื่องการตลาด เพื่อหาช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆจากไม้กฤษณาที่นอกเหนือไปจากน้ำมันหอม และตัวเกษตรกรเองก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของการแปรรูป เช่นการแทงไม้เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไม้กฤษณาต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤติศรัทธา

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มูลค่าของกฤษณา

ไม้กฤษณา เป็นพืชที่ถูกกล่าวถึงมานานแล้วในเรื่องมูลค่าราคาที่แสนแพงของแก่นไม้และน้ำมันกฤษณา



จึงทำให้มีเกษตรกรหลายท่านหันมาปลูกกฤษณาอย่างจริงจังเพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจ ทำให้มีพ่อค้าหัวใสพากันหากล้าไม้มาขายให้กับเกษตรกรในราคาแพง จนเกิดการปั่นราคากล้าไม้กฤษณาขึ้นมา โดยการอ้างถึงสายพันธุ์ต่างๆว่าวิเศษกว่าพันธุ์อื่นๆ เพื่อขายกล้าให้ได้ราคาแพงขึ้น  ทั้งที่ความจริงแล้วในตลาดกฤษณา ไม่ว่าผลผลิตจะมาจากสายพันธุ์ใดก็ล้วนแต่ขายได้ราคาทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นไม้และน้ำมัน



ปัจจุบัน มีเกษตรกรหลายรายต้องการขายต้นกฤษณาที่ปลูกขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 6-10 ปีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลูกมาแล้วแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องของการกระตุ้นและแปรรูปไม้กฤษณาให้เป็นสินค้าได้ บางรายไปซื้อต้นกล้ามาจากแหล่งที่ปั่นราคาขายในราคาสูงถึง 70-80 บาท และมีความเข้าใจผิดๆว่า ต้นกฤษณานั้นต้องมีมูลค่าที่สูงแม้ไม่ต้องกระตุ้นหรือมีสารกฤษณาอยู่ในต้น และต้องการขายต้นไม้ของตนในราคาต้นละหลายพันบาทหรือเป็นหมื่นก็มี  และเมื่อไม่สามารถขายสวนของตนได้ หลายท่านจึงได้ทำการตัดทำลายเผาทิ้งแล้วปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ทั้งๆที่กฤษณาแปลงนั้นๆได้ปลูกมาหลายปีแล้ว แทนที่จะตัดทิ้ง หากได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีก็จะสามารถสร้างเงินได้ในระยะเวลาอีกแค่ 1-2 ปี แต่การตัดแล้วปลูกพืชชนิดอื่น ทำให้ต้องรอเวลาเก็บเกี่ยวออกไปอีก 5-7 ปี ตามประเภทของพืชนั้นๆ



มูลค่าที่แท้จริงจริงของก็คือ ต้นกฤษณานั้น หากไม่มีแก่นกฤษณาหรือน้ำมันกฤษณาในต้น ก็แทบจะหามูลค่าในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดจากต้นกฤษณาก็คือแก่นและน้ำมัน และเนื้อไม้ก็อ่อนมากจนไม่สามารถนำเอาไปทำอะไรได้ นอกจากเป็นเชื้อไฟตั้งต้นสำหรับเผาถ่าน ส่วนใบนั้นก็มีเพียงไม่กี่รายในเมืองไทยที่นำเอาไปทำชากฤษณา

จากการสำรวจในจังหวัดที่มีการผลิตไม้และน้ำมันกฤษณาในเชิงอุตสาหกรรม พบว่า ราคาซื้อขายต้นกฤษณาเปล่าๆที่ไม่ได้กระตุ้น พบว่ามีราคาซื้อขายอยู่ในช่วง 500-800 บาทต่อต้น สำหรับต้นกฤษณาอายุประมาณ 6-8 ปี และ 800-1,000 บาทต่อต้น สำหรับต้นกฤษณาอายุ 8-10 ปี แต่สำหรับต้นกฤษณาที่มีอายุมากกว่าสิบปีขึ้นไปจะมีราคาที่สูงขึ้นจากขนาดของต้นไม้ที่โตกว่า



ในส่วนของต้นกฤษณาที่ได้รับการเจาะกระตุ้นแล้ว ที่อายุประมาณ 8-10 ปี พบว่ามีราคาซื้อขายเฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อต้น เมื่อผ่านการกระตุ้นไปมากกว่า 1 ปี

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว เกษตรกรส่วนมากมักจะมีคำถามตามมา เช่น

ถาม  ผู้ซื้อได้อะไรจากต้นกฤษณาที่ตนซื้อมา

ตอบ  คำตอบของคำถามนี้มีอยู่สองคำตอบ

1. สำหรับต้นไม้ที่ยังไม่ได้เจาะกระตุ้น ผู้ซื้อจะต้องทำกการเจาะกระตุ้นเสียก่อนและต้องรอบ่มไว้อย่างน้อยสองปี เพื่อให้เนื้อกฤษณามีคุณภาพที่ดีเพียงพอที่จะแปรรูป นั่นก็หมายความว่า เกษตรกรที่ขายต้นไม้ให้ต้องยินยอมให้ผู้ซื้อฝากต้นไม้ไว้ในที่ดินอย่างน้อยสองปี



2. ส่วนต้นไม้ที่เจาะกระตุ้นไว้แล้ว ผู้ซื้อจะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งโดยหลักๆแล้วมีอยู่สองประเภทคือ ชิ้นไม้และน้ำมัน  ในต้นกฤษณาที่ได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีและมีการดูแลที่ดีจากเจ้าของ ส่วนใหญ่จะให้ชิ้นไม้กฤษณาอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัมสำหรับต้นอายุประมาณ 6-7 ปี แต่การกระตุ้นบางวิธีสามารถให้ผลผลิตได้มากถึง 3-4 กิโลกรัมต่อต้น มูลค่าของชิ้นไม้คุณภาพดีขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ หนึ่งหมื่นบาทต่อกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย แต่หากเกรดไม้คุณภาพไม่สูงนัก ราคาก็จะถูกลงมาตามสภาพ และในกรณีที่คุณภาพไม้ไม่แก่พอที่จะทำไม้ชิ้นได้ก็จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันกฤษณา  โดยเฉลี่ย ต้นกฤษณาอายุประมาณ 8-10 ปีจะให้น้ำมันประมาณ 8-10 โตล่าต่อต้น



แต่อย่างไรก็ตาม ในคำตอบทั้งสองข้อก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเจาะกระตุ้นต้นไม้นั้น ก็จะมีต้นทุนค่าจ้างทำหรืออาจจะต้องซื้อสารมาทำเอง จากการศึกษาวิธีการกระตุ้นต่างๆจากบุคลากรหลายๆท่านในวการกฤษณาเมืองไทย พบว่า ค่าจ้างทำการกระตุ้นไม้กฤษณาที่อายุประมาณ 6-10 ปี จะอยู่ที่ 600-1,500 บาทต่อต้น และจะถูกลงหากจ้างทำเป็นปริมาณมาก ซึ่งการจ้างทำนั้นจะแพงกว่าการซื้อสารไปกระตุ้นเองเพราะผู้รับจ้างจะต้องบวกเอาค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหารการกิน และค่าแรงในการจ้างลูกน้อง ไปรวมอยู่ในต้นทุนด้วย

ส่วนการซื้อสารไปกระตุ้นเองนั้นจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า เฉลี่ยแล้วตกต้นละประมาณ 180-300 บาทเท่านั้น แต่ก็มีข้อเสียคือ หากผู้ใช้สารกระตุ้นไม่มีความเข้าใจเพียงพอก็จะทำให้ต้นไม้ผุพังเสียหายได้ เนื่องจากเมื่อก่อนนี้สารกระตุ้นส่วนใหญ่เป็นของเหลว และต้องหยอดใส่ในรูเจาะ และหากเจาะรูด้วยดอกสว่านขนาดใหญ่หรือเจาะใกล้กันเกินไป ก็จะทำให้ต้นไม้เสียหายได้



ส่วนในคำตอบข้อที่สองนั้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจว่า แม้จะเห็นว่าไม้กฤษณามีราคากิโลกรัมละเป็นหมื่นๆ แต่็มีค่าใช้จ่ายในการแปรรูปไม่น้อยเช่นกัน โดยแยกเป็น

1. ค่าตัดและขนย้ายต้นไม้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ต้นละประมาณ 100 บาท
2. ค่าแรงคนงานในการปอกไม้ขาวออกจากแก่นไม้ วันละ 200 บาท
3. ค่าแรงเหมาแกะหรือแทงไม้ (เหลาเอาเฉพาะเนื้อดำ) กิโลกรัมละ 1,500-2,500 บาท แล้วแต่เนื้อไม้
4. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆอีกประมาณ 500 บาทต่อต้น
5. ค่าแพ็คและขนส่งไปจำหน่าย ประมาณ 100 บาทต่อต้น



ส่วนต้นทุนของการกลั่นน้ำมันเช่น

1. ค่าแก๊ส สองถัง ถังละประมาณ 1,000 บาท กลั่น3-4 หม้อ
2. ค่าคนงานสับไม้ คนละประมาณ 200 บาทต่อวัน หรือหากเหมาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 10-15 บาท
3. ค่าน้ำ-ไฟ 100 บาทต่อล็อต
4. ค่าจ้างคนเฝ้าและดูแลหม้อกลั่น วันละ 200 บาทต่อคน
5. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ประมาณ 1,000 บาท



เมื่อทราบดังนี้แล้ว ผมคิดว่าเกษตรกรคงมีความเข้าใจในเรื่องการปลูกและผลิตไม้กฤษณามากขึ้น การกำหนดมูลค่าของต้นไม้จะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

การตัดแต่งกิ่งไม้กฤษณา

การตัดแต่งกิ่งของต้นกฤษณาในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มักจะตัดกิ่งออกจนเกือบหมด จนทำให้ต้นไม้ดูสูงชะลูด ไม้กฤษณาที่ตัดแต่งกิ่งแบบนี้จะทำให้ต้นล้มลงมาได้ง่ายเมื่อเจอลมพายุแรงๆ โดยเฉพาะต้นที่โดนตัดแต่งกิ่งตั้งแต่เล็กๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วต้นไม้จะสร้างรากแขนงค้ำยันต้นตามขนาดของทรงพุ่ม เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มและเป็นการช่วยพยุงต้นเอาไว้ด้วย






เมื่อทำการเจาะกระตุ้นแล้ว ต้นไม้จะเสียความแข็งแรงในเชิงโครงสร้างจากรอยสว่านที่เจาะจนพรุน บางครั้งอาจมีการผุจากการติดเชื้อราร่วมด้วย โดยเฉพาะเชื้อราในตระกูล "Phaeoacremonium parasitica" จริงอยู่ ที่ราชนิดนี้มีส่วนในการช่วยให้ต้นกฤษณาเกิดการตกน้ำมันในปริมาณมาก แต่การตัดแต่งกิ่งเช่นในภาพก็จะทำให้ต้นไม้เสียสมดุลไปและจะหักโค่นได้ง่ายเมื่อลมแรงๆจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น





ที่สำคัญคือ กระบวนการสร้างเรซินในต้นกฤษณานั้น จะเป็นไปได้มากหรือน้อย , เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณของใบ เพราะใบนั้นเปรียบเสมือนโรงครัวที่ทำอาหารเลี้ยงคนนั่นเอง การตัดแต่งกิ่งเช่นนี้จึงทำให้ต้นไม้สร้างน้ำมันไปสะสมตามบาดแผลที่ทำการกระตุ้นได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้น้ำมันที่ได้ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่เป็นสีดำ แม้บางต้นจะเก็บบ่มจากการทำการกระตุ้นมานานกว่าสองปีก็ยังคงเป็นสีน้ำตาลครับ



ปกติแล้ว เมื่อต้นกฤษณาได้รับการกระตุ้นหรือเกิดบาดแผลขึ้นภายในลำต้น จะทำให้ระบบการส่งน้ำและอาหารถูกขัดขวาง ต้นไม้ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปสร้างการเจริญเติบโตที่ปลายกิ่งหรือยอดได้ ต้นไม้จะมีอาการใบเหลือง เนื่องจากถูกดึงเอาอาหารสำรองที่สะสมไปใช้ และจะร่วงจนเกือบหมดต้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ การเคลื่อนที่ของน้ำในลำต้นก็จะช้าลง ทำให้สาร " ฟีนอล " ที่เป็นคล้ายกับโกรทฮอร์โมนของเราเกิดการอั้นในบริเวณแผลที่ถูกเจาะ ทำให้เกิดการสร้างกิ่งอ่อนหรือกิ่งแขนงขึ้นใกล้ๆกับรูเจาะ กิ่งดังกล่าวนี้ไม่ควรเด็ดหรือตัดทิ้ง เพราะมันจะคอยเป็นโรงอาหารสำรองไว้คอยสร้างสารอาหารเพื่อเลี้ยงในบริเวณใกล้ๆนั้น เนื่องจากต้นไม้ไม่มีกำลังจะไปจัดการดูแลสุขภาพตัวเองได้ทั้งต้น ซึ่งเป็นกระบวนการ การเอาตัวรอดตามธรรมชาติของต้นกฤษณาครับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่อันตรายมาก เพราะหากเกิดฝนตกหนักและน้ำขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นไม้ตายได้ จากอาการรากเน่า เพราะต้นไม้ไม่มีใบที่จะคายน้ำ ดังนั้นจึงควรเลือกช่วงเวลาที่จะเจาะกระตุ้นให้ดี



เนื้อไม้กฤษณานั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนประเภท " Included Phloem " ซึ่งมีทั้ง ไซเล็มและโฟลเอ็มอยู่คู่กันโดยไม่มีวาสคิวล่าร์แคมเบี่ยม และมี เรย์-พาเรงคิมา เป็นตัวเชื่อมระหว่างไซเล็มและโฟลเอ็ม ซึ่งสารกฤษณานั้นจะเกิดการเริ่มสร้างและสะสมในบริเวณที่เป็นรอยต่อดังกล่าวนี้เองโดยอาศัยจังหวะการส่งน้ำและอาหารขึ้น-ลงสวนกันแบบมีระบบวาล์วเปิดปิด คล้ายกับปั๊มดูดน้ำดื่มจากถังขนาด 20 ลิตรที่เราใช้กันในบ้านนั่นล่ะครับ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีหน้าที่คล้ายกับน้ำเหลืองและเม็ดเลือดขาวของเราในการช่วยปกปิดบาดแผลและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้ามาทำลายเนื้อไม้ หรือจะเรียกสารกฤษณาว่าเป็นระบบภูมิคุ้มกันของต้นไม้ก็คงจะไม่ผิดครับ



เมื่อต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะปิดกั้นบาดแผลนั้นๆได้ สารกฤษณาที่สร้างขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะกลายสภาพเป็นเปลือกและหลุดล่อนออกไปเหมือนกับสะเก็ดแผลของเราครับ แต่ต้นกฤษณาที่ตกน้ำมันจนมีการสะสมมากพอนั้น เกิดจากการที่ต้นไม้นั้นเกิดการระคายเคืองหรือเครียด หรือติดเชื้อที่บาดแผลเรื้อรัเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญ หากบาดแผลนั้นอยู่ภายในลำต้น จะต้นไม่ให้ต้นไม้แตกหักเสียหายหรือมีอากาศไหลเวียนเข้าไปได้ เพราะ ออกซิเจนและไนโตรเจนในอากาศสามารถทำให้ต้นไม้เปลี่ยนโครงสร้างน้ำมันเป็นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (เปลือก) เพื่อปกปิดบาดแผลแทน สุดท้ายแล้วแทนที่จะได้แก่นไม้ กลับได้ไม้ข้าวเย็นแทน (ไม้ที่คืนตัวเป็นเปลือก)



ดังนั้นตอนนี้ เราจึงได้เห็นและเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนที่ทำการกระตุ้นกฤษณาหลายๆท่านจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นต้นไม้



สรุปคือ หากต้องการปลูกต้นกฤษณาให้สามารถสร้างน้ำมันได้ดี ไม่ควรตัดแต่งกิ่งมากนัก ควรตัดทรงพุ่มไม่สูงเกินไปกว่าระดับหน้าอกของเราก็พอ เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะสร้างน้ำมันที่มีค่าให้กับเราต่อไป ผมมักจะพูดเรื่องนี้กับเกษตรกรผู้ปลูกกฤษณาทุกที่ที่ไปบรรยายในอาเซียนว่า " Strong Tree - Strong Resin "



การสร้างน้ำมันในต้นกฤษณาสามารถดูได้จากลิงค์นี้ครับ

Agarwood Inducement.

http://www.youtube.com/watch?v=GaFtsK2pNi8

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย

สายพันธุ์กฤษณาที่พบในประเทศไทย

ในประเทศไทยของเรานั้น มีไม้กฤษณาสายพันธุ์ดั้งเดิมขึ้นอยู่ตามป่าธรรมชาติในภูมิภาคต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ ดังนี้

1. Aquilaria Malaccensis  ไม้หอม ไม้พวมพร้าว กายูกาฮารู

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 40 เมตร ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ สีเทาหรือขาว ใบเดี่ยวรูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2.5- 5 เซนติเมตร ยาว 5- 15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่นม้วนเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ ด้านบนใบมัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ออกดอก ด้านข้างกิ่ง ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบดอกรวมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วไป ผล รูปไข่ ปลายมน

แหล่งอาศัย ตามป่าชุ่มชื้นอุดมสมบรูณ์ทั่วไป

แหล่งที่พบในประเทศไทย พบมากทางภาคใต้ทั้งภาค ไปจนถึงมาเลเซีย
แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ อินเดีย พม่า มาเลเซีย ไทย 

ไม้สายพันธุ์นี้ ให้น้ำมันเป็นสีเขียวแกมน้ำตาล ทำให้แก่นไม้มีสีออกดำเข้ม มีกลิ่นฉุนเผ็ดของ Agarol ชัดเจน



2. Aquilaria Crassna หรือที่เรียกว่า พันธุ์เขาใหญ่ หรือ  พันธุ์เขมร

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10- 30 เมตร ลำต้นตรง เปลือกเรียบ ใบมีลักษณะเหมือน Aquilaria malaccensis แต่ปลายผลเป็นติ่งเล็กน้อย แต่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองตามผิวผลหนาแน่น ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวมซึ่งมีแฉกของส่วนยาวกว่ากลีบส่วนล่างที่ติดกันคล้ายรูประฆังและแฉกของกลีบรวมหุ้มแนบ


แหล่งอาศัย พบตามป่าดิบแล้ง , บางครั้งพบบนเนินเขาเตี้ยๆ

แหล่งที่พบในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

ไม้พันธุ์นี้มีน้ำมันสีน้ำตาลแก่ มีกลิ่นหอมหวานของ Sesquiterpene ชัดเจน

3. Aquilaria Subintegra หรือไม้กาแย


ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลมโคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ใบยาวและมีขนาดใหญ่มาก 19- 27.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นแบบกระดาษมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วไป ดอกออกเป็นช่อตรงง่ามกิ่งมี 8-20 ดอก ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้ง รูปยาวเรียว

แหล่งอาศัย พบตามป่าชุ่มชื้น สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300- 500 เมตร

แหล่งที่พบในประเทศไทย ปัตตานี นราธิวาส

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย

 
4. Aquilaria Hirta หรือไม้จาแน


ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 14 เมตร ใบเดี่ยวปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบขนาน ความยาวของใบ 6.5- 14 เซนติเมตร กว้าง 2.5- 5.5 เซนติเมตร มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีขนขึ้นปกคลุม ดอกบานช่วงเดือนมีนาคม ผลเรียวแหลมคล้ายหอกและมีติ่งยื่นออกมา

แหล่งอาศัย พบขึ้นตามที่ราบ

แหล่งที่พบในประเทศไทย นราธิวาส

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย


5. Aquilaria Rugosa  หรือ กฤษณาดอย หรือไม้กฤษณาพม่า

เปรียบเทียบผลกับคราสน่า
เป็นกฤษณาที่พบได้ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ป่าดิบเขาของเขตภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ไล่ลงมาจนถึงแพร่ และอุตรดิตถ์

สามารถขึ้นและเติบโตได้ตั้งแต่ที่ระดับความสูง 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีลักษณะต่างจากกฤษณาชนิดอื่น คือ รูปร่างของผลที่ค่อนข้างกลม และผิวผลที่เป็นหยักคลื่นชัดเจน  ส่วนใบ มีลักษณะคล้ายกับคราสน่า แต่ขอบใบจะเรียบกว่าและมีรูปไข่ชัดเจน สีของใบเข้ม ช่วงข้อระหว่างใบสั้น

แหล่งกระจายพันธุ์ ไทยตอนบน ลาวตอนบน เวียตนามตอนบน และพม่า

ลักษณะของแก่นไม้และสีของน้ำมันคล้ายกับคราสน่า แต่มีกลิ่นหอมฉุนและหวานน้อยกว่าคราสน่า



จะเห็นได้ว่า หลายปีมานี้ ได้มีผู้จำหน่ายกล้าไม้กฤษณาสาย พันธุ์คราสน่าเป็นจำนวนมาก ที่อ้างว่าต้นกล้าของตนเป็นสายพันธุ์ ซับอินทีกร้า ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในเรื่องของสายพันธุ์

วิธีการสังเกตง่ายๆว่าเป็นคราสน่าหรือไม่ ก็แค่ดูที่ผล ซึ่งคราสน่าจะมีผลที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร จะมีคล้ายหน่อยก็แค่ ซิเนนซิส ของจีนเท่านั้น แค่ของจีนผลจะเรียวยาวกว่าและมีปลายจะแบนกว่า
ซิเนนซิส

ส่วน ซับอินทีกร้านั้น ยิ่งสังเกตง่าย เพราะต้นจะเตี้ยและแตกพุ่มคล้ายไม้พุ่ม กิ่งก้านยาวกึ่งเลื้อย และใบจะมีขนาดที่ใหญ่มากๆ โดยขนาดของใบนั้นยาวเกือบฟุตเลยทีเดียว และผลก็มีลักษณะเล็ก และกิ่ว สายพันธุ์นี้เป็นญาติใกล้ชิดกับ เฮอร์ต้าครับ

ดังนั้น หากมีใครเอากล้ากฤษณามาจำหน่ายในชื่อซับอินทีกร้า ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคราสน่านะครับ

วิศวะ  ศรีเพ็ชรกล้า  081-9979389
witsawa1@yahoo.com

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การบริโภคไม้กฤษณาในต่างประเทศนั้น ความต้องการของตลาดนั้นค่อนข้างจะถึงหลากหลาย อันเกิดจากความแตกต่างของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ อย่างในโลกตะวันตกหรือตะวันออกกลางนั้น น้ำมันกฤษณาถือเป็นของวิเศษที่พระเจ้าได้ประทานให้แก่มนุษย์เลยทีเดียว เคยมีผู้พรรณนาถึงไม้กฤษณาเอาไว้ว่า “น้ำมันกฤษณาแม้เพียงหยดเดียวนั้น สามารถสร้างความสดชื่น และปลุกเร้าจิตวิญญาณให้มีชีวิตชีวา กลิ่นของมันนั้นแผ่ซ่านละมุนละไมไปทั่วทั้งปอด ราวกับว่ามันได้แทรกซึมไปทั่วทุกอณูของร่างกาย กลิ่นของมันนั้นจะซื่อสัตย์และมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาจะล่วงเลยไปนานเท่าใดก็ตาม” ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการใช้น้ำมันกฤษณาจนกลายเป็นนิสัยเฉพาะของชาวตะวันออกกลางไปแล้ว
นอกจากเรื่องความหอมซึ่งช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว น้ำมันกฤษณายังคงมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย โดยชาวตะวันออกกลางนั้นมักจะหยดน้ำมันกฤษณาลงในน้ำชาหรือน้ำร้อนเพื่อดื่มบำรุงหัวใจ ขณะที่ในโลกตะวันออกอย่างญี่ปุ่นหรือจีนนั้นก็ได้มีการบริโภคไม้กฤษณามาตั้งแต่โบราณแล้วเช่นกัน โดยใช้ในรูปของยา สรรพคุณทางยาที่คนจีนหรือญี่ปุ่นใช้นั้นก็เป็นเรื่องการบำรุงหัวใจเป็นหลักไม่ต่างจากตะวันออกกลาง อีกทั้งยังใช้เป็นยาขับลมได้ด้วย สำหรับชิ้นไม้นั้นมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยใช้ในรูปของกำยาน ในญี่ปุ่นนั้นใช้กฤษณาจุดเป็นกำยานประกอบในพิธีชงชา อันเป็นศิลปะขั้นสูง ดังนั้นไม้ที่ใช้จุดต้องเป็นไม้ที่เกรดดีมากๆ ราคากิโลกรัมละนับแสนบาทเลยทีเดียว ในวัดที่ประเทศจีนก็ใช้เช่นเดียวกัน ส่วนในตะวันออกกลางนั้นใช้จุดเพื่อรับแขกเป็นการให้เกียรติแขกที่มาเยือน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายไม่เกิดความหงุดหงิดจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวของทะเลทราย และยังสามารถไล่ไรไม่ให้ไต่ตอมได้อีกด้วย กลิ่นที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ใช้ หากผู้ใช้มีฐานะ เกรดไม้ที่ใช้ก็มักจะสูงตามไปด้วย ไม้กฤษณานั้นเป็นของใช้ประจำในตะวันออกกลางมาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า หากบ้านใดมีทารกเกิดใหม่ ไม้กฤษณาก็มักจะเป็นของขวัญแรกเกิดให้กับครอบครัวนั้นๆพร้อมกับของรับขวัญอื่นๆ สำหรับไม้กฤษณาที่มีรูปทรงสวยและมีขนาดใหญ่นั้น ผู้มีฐานะมักจะซื้อหามาประดับบ้านและประดับบารมี โดยใส่ตู้กระจกโชว์ไว้ภายในบ้าน และไม้สำหรับโชว์นี้ก็มีราคาที่แพงมากบางชิ้นราคาซื้อขายหลายล้านบาท เนื่องจากกฤษณาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และหายาก เปรียบได้กับพระเครื่องหายากในเมืองไทยนั่นเอง

ราคาซื้อขายไม้กฤษณาในต่างประเทศนั้นสูงกว่าในประเทศไทยหลายเท่านัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการสะสมน้ำมันในเนื้อไม้ด้วย ไม้ที่มีการสะสมน้ำมันมากจะมีสีดำเข้มและหนัก มีราคาแพง ดังนั้นจึงมีการแยกเกรดไม้ในการซื้อขายดังตัวอย่าง

http://www.agarscentsbazaar.com/servlet/the-Incense-fdsh-Bakhoor-cln-Agarwood-Chips/Categories