วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย

สายพันธุ์กฤษณาที่พบในประเทศไทย

ในประเทศไทยของเรานั้น มีไม้กฤษณาสายพันธุ์ดั้งเดิมขึ้นอยู่ตามป่าธรรมชาติในภูมิภาคต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ ดังนี้

1. Aquilaria Malaccensis  ไม้หอม ไม้พวมพร้าว กายูกาฮารู

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 40 เมตร ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ สีเทาหรือขาว ใบเดี่ยวรูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2.5- 5 เซนติเมตร ยาว 5- 15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่นม้วนเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ ด้านบนใบมัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ออกดอก ด้านข้างกิ่ง ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบดอกรวมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วไป ผล รูปไข่ ปลายมน

แหล่งอาศัย ตามป่าชุ่มชื้นอุดมสมบรูณ์ทั่วไป

แหล่งที่พบในประเทศไทย พบมากทางภาคใต้ทั้งภาค ไปจนถึงมาเลเซีย
แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ อินเดีย พม่า มาเลเซีย ไทย 

ไม้สายพันธุ์นี้ ให้น้ำมันเป็นสีเขียวแกมน้ำตาล ทำให้แก่นไม้มีสีออกดำเข้ม มีกลิ่นฉุนเผ็ดของ Agarol ชัดเจน



2. Aquilaria Crassna หรือที่เรียกว่า พันธุ์เขาใหญ่ หรือ  พันธุ์เขมร

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10- 30 เมตร ลำต้นตรง เปลือกเรียบ ใบมีลักษณะเหมือน Aquilaria malaccensis แต่ปลายผลเป็นติ่งเล็กน้อย แต่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองตามผิวผลหนาแน่น ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวมซึ่งมีแฉกของส่วนยาวกว่ากลีบส่วนล่างที่ติดกันคล้ายรูประฆังและแฉกของกลีบรวมหุ้มแนบ


แหล่งอาศัย พบตามป่าดิบแล้ง , บางครั้งพบบนเนินเขาเตี้ยๆ

แหล่งที่พบในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

ไม้พันธุ์นี้มีน้ำมันสีน้ำตาลแก่ มีกลิ่นหอมหวานของ Sesquiterpene ชัดเจน

3. Aquilaria Subintegra หรือไม้กาแย


ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลมโคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ใบยาวและมีขนาดใหญ่มาก 19- 27.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นแบบกระดาษมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วไป ดอกออกเป็นช่อตรงง่ามกิ่งมี 8-20 ดอก ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้ง รูปยาวเรียว

แหล่งอาศัย พบตามป่าชุ่มชื้น สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300- 500 เมตร

แหล่งที่พบในประเทศไทย ปัตตานี นราธิวาส

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย

 
4. Aquilaria Hirta หรือไม้จาแน


ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 14 เมตร ใบเดี่ยวปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบขนาน ความยาวของใบ 6.5- 14 เซนติเมตร กว้าง 2.5- 5.5 เซนติเมตร มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีขนขึ้นปกคลุม ดอกบานช่วงเดือนมีนาคม ผลเรียวแหลมคล้ายหอกและมีติ่งยื่นออกมา

แหล่งอาศัย พบขึ้นตามที่ราบ

แหล่งที่พบในประเทศไทย นราธิวาส

แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย


5. Aquilaria Rugosa  หรือ กฤษณาดอย หรือไม้กฤษณาพม่า

เปรียบเทียบผลกับคราสน่า
เป็นกฤษณาที่พบได้ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ป่าดิบเขาของเขตภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ไล่ลงมาจนถึงแพร่ และอุตรดิตถ์

สามารถขึ้นและเติบโตได้ตั้งแต่ที่ระดับความสูง 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีลักษณะต่างจากกฤษณาชนิดอื่น คือ รูปร่างของผลที่ค่อนข้างกลม และผิวผลที่เป็นหยักคลื่นชัดเจน  ส่วนใบ มีลักษณะคล้ายกับคราสน่า แต่ขอบใบจะเรียบกว่าและมีรูปไข่ชัดเจน สีของใบเข้ม ช่วงข้อระหว่างใบสั้น

แหล่งกระจายพันธุ์ ไทยตอนบน ลาวตอนบน เวียตนามตอนบน และพม่า

ลักษณะของแก่นไม้และสีของน้ำมันคล้ายกับคราสน่า แต่มีกลิ่นหอมฉุนและหวานน้อยกว่าคราสน่า



จะเห็นได้ว่า หลายปีมานี้ ได้มีผู้จำหน่ายกล้าไม้กฤษณาสาย พันธุ์คราสน่าเป็นจำนวนมาก ที่อ้างว่าต้นกล้าของตนเป็นสายพันธุ์ ซับอินทีกร้า ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในเรื่องของสายพันธุ์

วิธีการสังเกตง่ายๆว่าเป็นคราสน่าหรือไม่ ก็แค่ดูที่ผล ซึ่งคราสน่าจะมีผลที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร จะมีคล้ายหน่อยก็แค่ ซิเนนซิส ของจีนเท่านั้น แค่ของจีนผลจะเรียวยาวกว่าและมีปลายจะแบนกว่า
ซิเนนซิส

ส่วน ซับอินทีกร้านั้น ยิ่งสังเกตง่าย เพราะต้นจะเตี้ยและแตกพุ่มคล้ายไม้พุ่ม กิ่งก้านยาวกึ่งเลื้อย และใบจะมีขนาดที่ใหญ่มากๆ โดยขนาดของใบนั้นยาวเกือบฟุตเลยทีเดียว และผลก็มีลักษณะเล็ก และกิ่ว สายพันธุ์นี้เป็นญาติใกล้ชิดกับ เฮอร์ต้าครับ

ดังนั้น หากมีใครเอากล้ากฤษณามาจำหน่ายในชื่อซับอินทีกร้า ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคราสน่านะครับ

วิศวะ  ศรีเพ็ชรกล้า  081-9979389
witsawa1@yahoo.com